อาหารรสเผ็ดคู่กับประเทศไทยมานาน และมีการปลูกพริกมาตั้งแต่บรรพบุรุษแต่โบราณ โดยพริกในไทยมีกว่า 831 สายพันธุ์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามชนิดของพริก ได้แก่ พริกขี้หนูเม็ดใหญ่ พริกขี้หนูเม็ดเล็ก และพริกชี้ฟ้า ซึ่งรสเผ็ดร้อนของพริกมาจากสารแคปไซซิน (Capsicin) ที่กระจายอยู่ในทุกส่วนของพริก แต่บริเวณที่มีความเผ็ดมากที่สุดของพริก คือ ไส้พริก นั่นเอง เพราะส่วนนี้จะทนความร้อนได้ดี แม้ว่าจะผ่านความร้อน ปรุงให้สุก หรือนำพริกไปตากแดดจนแห้งสนิท แต่รสเผ็ดของพริกก็ยังไม่หายไป
คุณค่าทางโภชนาการของพริก โดยในพริกขี้หนูและพริกชีฟ้า 100 กรัม มีดังนี้
- พลังงาน 103 กิโลแคลอรี
- ไขมัน 2.4 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 19.9 กรัม
- โปรตีน 4.7 กรัม
- ใยอาหาร 6.5 กรัม
- แคลเซียม 45 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 85 มิลลิกรัม
- เหล็ก 2.5 มิลลิกรัม
- วิตามิน A 11,050 I.U.
- ไธอะมีน 0.24 มิลลิกรัม
- ไรโบเฟลวิน 0.29 มิลลิกรัม
- ไนอะซีน 2.10 มิลลิกรัม
- วิตามิน C 70 มิลลิกรัม
ประโยชน์ของพริก
1. สลายลิ่มเลือดให้คืนสู่ปกติ
สารละลายลิ่มเลือดได้ดี ช่วยป้องกันไม่ให้เลือดจับตัวเป็นก้อน หรือเกาะกลุ่มกันจนไปอุดตันในหลอดเลือด ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูง
2. กระตุ้นให้อยากอาหาร
พริกจะเข้ากระตุ้นปลายประสาทให้สมองส่วนกลางรับรู้การอยากอาหาร และกระตุ้นต่อมน้ำลายให้ทำงานมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกอยากอาหาร เมื่อทานอาหารรสเผ็ด จะยิ่งทานอาหารได้มากขึ้น
3. บรรเทาอาการปวดต่าง ๆ
คุณสมบัติของสารแคปไซซิน ช่วยลดอาการเจ็บปวดที่ผิวหนัง หรืออาการปวดเมื่อยได้ โดยมักจะมีการนำพริกแปรรูปเป็นขี้ผึ้ง ครีม สำหรับใช้ทาภายนอกเพื่อรักษาอาการเจ็บปวด
4. ขับเสมหะ ช่วยให้ระบบหายใจคล่อง
ความเผ็ดร้อนของพริกจะกระตุ้นน้ำมูก หรือน้ำตาให้ไหลออกมา ช่วยขับล้างสิ่งกีดขวางในระบบทางเดินหายใจ ขับเสมหะ ทำให้รู้สึกโล่งคอ บรรเทาอาการเจ็บคอ หายใจสะดวกขึ้น
5. พริกมีวิตามินซี และ สารเบต้าแคโรทีน
วิตามินซีในพริก ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน และมีคุณสมบัติช่วยบำรุงสายตา ป้องกันการเสื่อมของจอประสาทตาได้
6. กระตุ้นสารเอ็นโดรฟิน รู้สึกผ่อนคลาย
สารแคปไซซินในพริก ช่วยกระตุ้นให้มีการหลั่งสารเอ็นโดรฟิน (Endorphins) สารส่งผ่านเส้นประสาท ผลิตต่อมใต้สมอง ซึ่งเป็นฮอร์โมนตามธรรมชาติ ช่วยลดความเครียด ความเจ็บปวด ปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น เป็นสารแห่งความสุข
7. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
เพราะสารบางชนิดในพริกช่วยยับยั้งการดูดซึมของน้ำตาลกลูโคสได้ จึงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดลง และสารแคปไซซินช่วยยับยั้งไม่ให้ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL) แต่ช่วยเพิ่มคอเรสเตอรอลชนิดดี (HDL) ให้กับร่างกาย
8. ช่วยลดน้ำหนัก
สาร Themoginic หรือสารสร้างความร้อนในพริก จะเข้าไปกระตุ้นการเผาผลาญในร่างกาย อีกทั้งยังมีกรดแอสคอร์บิก ที่ช่วยเปลี่ยนไขมันในร่างกายให้เป็นพลังงานได้ดีขึ้น จึงดีต่อผู้ที่ลดน้ำหนัก
เห็นได้ว่า พริก พืชรสเผ็ดร้อนที่ควบคู่กับเมนูอาหารไทยหลายชนิด นอกจากจะช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้อร่อย น่าทานมากขึ้น ยังมีประโยชน์ดี ๆ จากสารในพริกอีกมากมาย แต่อย่างไรก็ตาม ควรทานอาหารรสเผ็ด หรืออาหารที่มีพริกเป็นส่วนประกอบแต่เพียงพอดี หากทานมากไป ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกันค่ะ