15°C New York
January 22, 2025
Silver Economy ธุรกิจในยุคเศรษฐกิจผู้สูงวัยครองเมือง
การตลาด บทความ ประชาสัมพันธ์ วัฒนธรรม สุขภาพ

Silver Economy ธุรกิจในยุคเศรษฐกิจผู้สูงวัยครองเมือง

 ในปัจจุบัน กลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูงอันดับต้น ๆ ของโลก ได้แก่ กลุ่ม Silver Gene หรือ Silver Generation คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี ทำให้กลายเป็นเป้าหมายการตลาดที่น่าจับตามอง และคาดว่าเทรนด์เศรษฐกิจผู้สูงวัยจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและธุรกิจต่าง ๆ ให้เติบโตได้อย่างรวดเร็วในอนาคต 

สังคมผู้สูงอายุ หมายถึง กลุ่มคนวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงจากสังคมผู้สูงอายุ (againg society) สู่สังคมผู้อายุโดยสมบูรณ์อย่างเต็มรูปแบบ (complete aged society) เมื่อปี พ.ศ.2565 ภายใน 19 ปี เท่านั้น จาก 22% ในปี พ.ศ. 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 26% ในปี พ.ศ. 2563 จากประชากรไทยทั้งหมด 

เมื่อกลุ่มผู้สูงวัยครองเมือง ย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโลก ทั้งในส่วนของสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทำให้ Silver Economy คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ สินค้า และกิจกรรมที่จะมารองรับความต้องการและความจำเป็นของกลุ่มลูกค้าสูงวัย เป็น เศรษฐกิจสีเงิน หรือ เศรษฐกิจผู้สูงวัย ที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 55 – 69 ปี ซึ่งมีมากกว่า 7 ล้านคนในจำนวนประชากรทั้งหมด

แนวโน้มธุรกิจสำหรับผู้สูงวัย 

ธุรกิจสำหรับกลุ่มเศรษฐกิจสูงวัย  สามารถแบ่งเป็น 6 ธุรกิจหลัก ๆ ได้ดังนี้ 

  • สุขภาพ อาจเป็นการตั้งธุรกิจใหม่ทั้งหมด หรือ ขยายบริการจากธุรกิจที่มีอยู่แล้ว เช่น บริการการดูแลผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ดูแลด้านสุขภาพ อุปกรณ์ออกกำลังกล้ามเนื้อ เป็นต้น 
  • อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น รถเข็นไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ระบบอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ติดตามตัว อุปกรณ์การช่วยเหลือทางการแพทย์ 
  • อสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัยที่ตอบรับการใช้งานในชีวิตประจำวันของผู้สูงวัย เช่น บ้านพักคนชรา ชุมชนผู้สูงอายุ 
  • สันทนาการและการพัฒนาตนเอง กิจกรรมที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้ร่วมแสดงความคิดเห็น พัฒนาฝีมือ หรือรวมกลุ่มเป็นสังคม เช่น การเรียนรู้งานฝีมือ การท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงวัย 
  • ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น กรมธรรม์ประกันชีวิต การประกันภัย สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) 
  • ที่ปรึกษาด้านกฏหมาย ทนายจัดการมรดก การจัดทำเจตจำนงในการดำรงชีวิต เป็นต้น 

สาเหตุของปัญหาสังคมผู้สูงอายุ 

  • การพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจ มีความเจริญก้าวหน้า พัฒนาทางด้านสาธารณสุข อนามัย โรงพยาบาล และการคมนาคมได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น มีการบริโภคที่ถูกหลักโภชนาการ รู้จักดูแลสุขอนามัย ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ทีดีมีอายุยืนขึ้น 
  • ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้สามารถพัฒนาด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ มีวัตกรรมใหม่ ๆ ช่วยควบคุมและรักษาโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้ประชากรมีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนยาวขึ้น 
  • นโยบายการวางแผนครอบครัว – การควบคุมการมีบุตร นโยบายการวางแผนครอบครัว และการควบคุมการมีบุตร ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ เพราะการมีบุตรมากอาจกลายเป็นภาระและอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ทำให้หลายประเทศมีนโยบายวางแผนการมีบุตร และควบคุมอัตราการเกิด จึงส่งผลให้มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุมากขึ้น จนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในที่สุด 

เมื่อสังคมโลก รวมถึงประเทศไทย ก้าวเข้าสู่ Complete aged society อย่างเต็มรูปแบบ ย่อมหมายถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางเศรษฐกิจ ที่ทางผู้ผลิตและนักการตลาดไม่ควรมองข้าม และยิ่งต้องเร่งนำมาต่อยอดธุรกิจเพื่อให้ตอบโจทย์กับกลุ่มผู้มีกำลังซื้อมากเป็นอันดับต้น ๆ อย่างกลุ่ม Silver Generation เพราะถ้าคิดช้า ทำช้า อาจก้าวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงกับยุค “ผู้สูงวัยครองเมือง”